รู้จักกับ Society 5.0


รู้จักกับ Society 5.0

Society 5.0 คืออะไร รู้จักกับเป้าหมาย เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรหาก Society 5.0 เกิดขึ้นจริง

1. Society 5.0 คืออะไร

2. เป้าหมายของ Society 5.0

3. ปัญหาที่ Society 5.0 จะช่วยแก้ไขได้

4. เทคโนโลยีที่จำเป็นในการทำให้ Society 5.0 เกิดขึ้นจริง

5. แผนการของรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นสำหรับ Society 5.0

1. Society 5.0 คืออะไร

1.1 นิยามของ Society 5.0

Society 5.0 คือ สังคม (Society) ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กันโดยใช้ระบบขั้นสูง ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ Big Data AI หรือเทคโนโลยี IoT ที่ผสมผสานพื้นที่เสมือนจริง (Cyber Space) และพื้นที่จริง (Physical Space) เข้าด้วยกัน

Society 5.0 เป็นแนวคิดที่ประเทศญี่ปุ่นเริ่มนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาและเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่มีในสังคมปัจจุบัน โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด และทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เหมาะกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากที่สุดในโลก เนื่องด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีและการปฏิรูปสังคม

1.2 เปรียบเทียบกับสังคมอื่นๆ ตั้งแต่ก่อน Society 5.0

สังคมก่อน Society 5.0 ถูกจำกัดความไว้ดังต่อไปนี้

  • Society 1.0 (สังคมล่าสัตว์)

  • Society 2.0 (สังคมเกษตรกรรม)

  • Society 3.0 (สังคมอุตสาหกรรม)

  • Society 4.0 (สังคมข้อมูลสารสนเทศ)

2. เป้าหมายของ Society 5.0

เป้าหมายของ Society 5.0 คือ การทำให้ผู้คนใช้ชีวิตสะดวกสบายง่ายขึ้น และอุดมสมบูรณ์มากขึ้นด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมกับการเอาชนะปัญหาต่างๆ ที่มีในสังคมปัจจุบัน (Society 4.0) ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดต่างๆ มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อผสานพื้นที่เสมือนจริง (Cyber Space) และพื้นที่จริง (Physical Space) เข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ตัวอย่างจากในยุคปัจจุบัน (Society 4.0) หากเราจะค้นหาข้อมูลอะไรสักอย่าง แม้เราจะสามารถเข้าถึง Cyber Space จาก Physical Space ได้ แต่ก็มีบ่อยครั้งที่เราไม่ได้รับคำตอบที่ต้องการ ถ้าให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพก็เช่น เมื่อเราค้นหาข้อมูลด้วยคีย์เวิร์ดสักอย่างโดยใช้ Search Engine บนอินเทอร์เน็ตแต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ หรือ Navigator ของรถยนต์ไม่ได้เลือกเส้นทางที่ดีที่สุดให้ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ Society 5.0 ที่จะเป็นยุคถัดไป จึงมุ่งเป้าไปที่การผสมผสาน Cyber Space กับ Physical Space เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นในเวลาที่จำเป็นอย่างง่ายดาย

สำหรับหนึ่งในตัวอย่างที่ใกล้ตัว คือ ระบบตอบคำถามโดย AI อย่าง Siri ที่ติดตั้งอยู่ในผลิตภัณฑ์ของ Apple

3. ปัญหาที่ Society 5.0 จะช่วยแก้ไขได้

  • ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas)
  • เพิ่มกำลังการผลิตและลดการสูญเปล่าของอาหาร (Increasing food production and reducing food loss)
  • ควบคุมต้นทุนทางสังคม (Social cost)
  • เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)
  • ความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น (Regional disparities)

3.1 ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas)

สภาวะโลกร้อนที่เกิดจากก๊าซเรือนกระจก เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมาอย่างยาวนานซึ่งทั่วโลกควรแก้ไข โดยเฉพาะปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของญี่ปุ่นสูงถึงประมาณ 1,300 ล้านตัน ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ญี่ปุ่นตั้งเป้าไว้ว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกลง 80% ภายในปี 2050 ซึ่งหนึ่งในแผนการของ Society 5.0 คือ การเริ่มใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยโครงการ Smart City

3.2 เพิ่มกำลังการผลิตและลดการสูญเปล่าของอาหาร (Increasing food production and reducing food loss)

ทั่วโลกมีการสูญเปล่าของอาหารถึง 1,300 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนที่ถูกทิ้งนับเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนที่ผลิตทั้งหมด และยังมีผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลกที่ไม่มีอาหารกินเนื่องจากความยากจน การเพิ่มกำลังการผลิตอาหาร และการลดการสูญเปล่าของอาหารเป็นอีกปัญหาที่ Society 5.0 สามารถแก้ไขได้ เช่น การเพิ่มกำลังการผลิตและแก้ปัญหาการสูญเปล่าของอาหารโดยการผลักดันการเกษตรรูปแบบใหม่ที่เรียกว่าเกษตรกรรมอัจฉริยะที่นำข้อมูล และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดมาใช้อย่างลงตัว

เมื่อการผลิตอาหารมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถวางแผนได้ จากการนำเกษตรกรรมอัจฉริยะมาใช้ ทำให้สามารถคาดการณ์กำลังการผลิตที่ต้องใช้และยังช่วยลดการผลิตอาหารที่เกินความจำเป็นได้อีกด้วย นั่นหมายความว่าการสูญเปล่าก็จะลดลงไปโดยอัตโนมัติ

3.3 ควบคุมต้นทุนทางสังคม (Social cost)

สิ่งที่ถูกมองว่าเป็นปัญหามากที่สุดในสังคมญี่ปุ่นยุคปัจจุบันก็คือ การเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุ และอัตราการเกิดน้อยลงอย่างมาก จากรายงานของกระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสารญี่ปุ่น พบว่า ในปี 2019 สัดส่วนของประชากรผู้สูงที่มีอายุเกิน 65 ปี พุ่งขึ้นสูงถึง 28.4% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในโลก และหากไม่มีการรับมือใดๆ คาดว่าหลังจากนี้ก็จะเพิ่มสูงขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่าหากสังคมมีผู้สุงอายุมากขึ้นแต่อัตราการเกิดน้อยลง ความต้องการการรักษา และการดูแลก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนทั้งบุคลากรและสถานที่อำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาน่ากังวลอื่นๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนอกเหนือจากที่ยกมาข้างต้นก็คือ การเกิดความเหลื่อมล้ำทางการแพทย์ในต่างจังหวัดจากการลดลงของประชากร เพื่อที่จะควบคุมต้นทุนทางสังคมส่วนหนึ่งที่เกิดจากสังคมผู้สูงอายุเด็กเกิดน้อย Society 5.0 จึงมีการผลักดันการตรวจรักษาทางไกลผ่านทางออนไลน์ (Telemedicine) ใช้ AI และหุ่นยนต์ดูแลคนไข้ ณ สถานที่จริงแทน

อ่านเพิ่มเติม รู้จักกับโทรเวชกรรม (Telemedicine) ด้วย Google Cloud

3.4 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals)

อีกปัญหาที่เกี่ยวข้องกันอย่างมากกับการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุแต่อัตราการเกิดน้อยที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ การขาดแคลนแรงงานในอนาคตก็เป็นสิ่งที่น่ากังวล การส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของ Society 5.0 ดังนั้นเพื่อจัดการสิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นต้องนำ IoT และ AI มาประยุกต์ใช้ เช่น การทำระบบอัตโนมัติในไลน์ผลิตของอุตสาหกรรมการผลิต หากสามารถใช้ IoT หรือ AI ทำงานแทนมนุษย์ได้และยังได้ผลงานที่ดี ก็จะเป็นอีกวิธีการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

3.5 ความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น (Regional disparities)

ปัญหาที่ Society 5.0 สามารถแก้ไขได้ไม่ได้มีแค่ปัญหาระดับองค์กรหรือบุคคลเท่านั้น ญี่ปุ่นเองก็เผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น เช่น ประชากร งบประมาณ รายได้ เป็นต้น ซึ่งแผนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้มีอยู่ใน Society 5.0 เรียบร้อยแล้ว เช่น การรับประกันความปลอดภัยการคมนาคมในท้องถิ่นด้วยรถบัสโดยสารไร้คนขับ การนำรถบัสโดยสารไร้คนขับมาใช้ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความปลอดภัยของคนขับและปัญหาเรื่องกำไรที่ลดลงเนื่องจากผู้ใช้บริการน้อยลง

Society 5.0 มีเป้าหมายที่จะสร้างอนาคตที่ผู้คนในท้องถิ่นได้ใช้ชีวิตอย่างสบายใจแม้จะอยู่ในภูมิภาคที่ประชากรเริ่มเบาบางหรือผู้สูงอายุกำลังเพิ่มขึ้น

4. เทคโนโลยีที่จำเป็นในการทำให้ Society 5.0 เกิดขึ้นจริง

  • IoT (Internet of Things)
  • Big Data
  • AI
  • 5G
  • โดรน(Drone)
  • การชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด (Cashless payment)

4.1 IoT(Internet of Things)

IoT (Internet of Things) คือ การเชื่อมต่อสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

โดยส่วนใหญ่อินเทอร์เน็ตจะใช้สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IT ต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้จำกัดแค่อุปกรณ์ IT เท่านั้น ถ้ายกตัวอย่างสิ่งใกล้ตัวก็เช่น สมาร์ตโฟน โทรทัศน์ ลำโพง หรือแม้กระทั่งเครื่องปรับอากาศก็สามารถควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ต่อไปนี้ก็คงจินตนาการได้ไม่ยากกับการนำอินเทอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง

4.2 Big Data

Big Data ถ้าแปลตรงตัวเลยคือ ข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นแค่ความหมายส่วนหนึ่งของคำว่า Big Data เท่านั้น Big Data มีองค์ประกอบ 4 อย่างดังต่อไปนี้

  • ปริมาณของข้อมูล (volume)

  • ประเภทของข้อมูล (variety)

  • ความเร็วในการอินพุต/เอาท์พุตและประมวลผลข้อมูล (velocity)

  • คุณค่าของข้อมูล (value)

การบันทึก การเก็บรักษากลุ่มข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความหลากหลาย และการวิเคราะห์แบบเรียลไทม์ในทุกๆ วัน จะทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ รวมถึงสามารถคาดคะเนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

Big Data ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาของทุกๆ อุตสาหกรรมทั่วโลก ซึ่งขอบเขตของมันครอบคลุมถึงทั้งภาครัฐและเอกชนโดยไม่จำกัดประเภทของอุตสาหกรรม

อ่านเพิ่มเติม วิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาด ด้วย Google Cloud แพลตฟอร์มสำหรับ Big Data จาก Google

4.3 AI

AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ คำจำกัดความของคำว่า AI อาจไม่ได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่ชัด แต่จากส่วนหนึ่งของหนังสือแนะนำสมาคมปัญญาประดิษฐ์ของญี่ปุ่นได้จำกัดความว่า

AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นสิ่งที่มุ่งหมายที่จะสามารถให้เหตุผลขั้นสูงได้อย่างถูกต้องต่อข้อมูลความรู้จำนวนมาก

ด้วย IoT ที่พูดถึงก่อนหน้านี้ Big Data จำนวนมากจะถูกสะสมมากขึ้นในทุกๆ วัน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายเหล่านี้และสรุปออกมาก็เป็นหนึ่งในหน้าที่ของ AI และคาดว่าในอนาคต AI จะแทรกซึมจนกลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของบริการและสินค้ามากมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

4.4 5G

5G เป็นคำย่อของ 5th Generation ซึ่งมีความหมายว่า ยุคที่ 5 ของมาตรฐานการสื่อสารที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือและอื่นๆ มีจุดเด่น 3 อย่าง คือ ความเร็วสูง การสื่อสารมีความหน่วงต่ำแต่ให้ความน่าเชื่อถือสูง และความสามารถในการเชื่อมต่อพร้อมกันได้หลายรายการ

เมื่อเทียบกับ 4G แล้ว ความเร็วในการสื่อสารเพิ่มขึ้นอย่างมาก รวมถึงความสามารถในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากมือถือก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน VR การแพทย์ทางไกล (telemedicine) การควบคุมโดรน (drone control) การขับขี่อัตโนมัติ​ (automatic driving) คือ ตัวอย่างการนำ 5G มาประยุกต์ใช้

ที่ญี่ปุ่นเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2020 ซึ่งไม่ใช่แค่ในระดับบุคคล แต่ยังมีการนำไปปรับใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมตามที่ได้ยกตัวอย่างไว้ด้านบนอีกด้วย

4.5 โดรน(Drone)

อากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กที่ควบคุมด้วยวิทยุบังคับ โดรนเคยเป็นสิ่งที่ใช้ในเฉพาะทางการทหารโดรนเป็นชื่อเรียกโดยรวมของยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง อย่างเช่น เรือหรือเครื่องบินไร้คนขับ รวมถึงพาหนะต่างๆ ที่ไร้คนขับ แต่ตั้งแต่ปี 2010 ความหมายของโดรนเริ่มเปลี่ยนไปตามที่เราเรียกกันในปัจจุบันโดยเฉพาะการติดกล้อง เพื่อใช้ถ่ายภาพทางอากาศ และถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายแวดวงธุรกิจ เช่น การพ่นยากำจัดศัตรูพืช ซึ่งหากใช้มนุษย์จะต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก การขนส่งที่มีการทดลองขนส่งด้วยโดรนแล้ว

4.6 การชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด (Cashless payment)

การชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด เป็นวิธีการชำระเงินโดยไม่ต้องใช้เงินสดอย่างธนบัตรหรือเหรียญ ใน Society 5.0 คาดว่าการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดจะแพร่หลายมากขึ้นอีก ตัวอย่างของการชำระเงิน เช่น การใช้บัตรเครดิต การชำระผ่าน QR Code หรือ Barcode

ข้อดีของการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสด เช่น ลดต้นทุนทางสังคมที่เกิดขึ้นเมื่อใช้เงินสด ไม่ว่าจะเป็นค่าติดตั้งตู้ ATM ค่าดูแลรักษา ATM ค่าขนส่งธนบัตรหรือเหรียญ ลดระยะเวลาการจ่ายและทอนเงินเมื่อชำระเงินสด และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธุรกิจและร้านค้า เป็นต้น

5. แผนการของรัฐบาลญี่ปุ่นและหน่วยงานท้องถิ่นสำหรับ Society 5.0

  • บริการอัจฉริยะ
  • การสร้างสังคมไร้เงินสดโดยใช้ IT
  • บุคลากรและการศึกษาที่จำเป็นสำหรับ Society 5.0

5.1 บริการอัจฉริยะ

แม้ปัจจุบันโลกจะลดการใช้ทรัพยากรในการทำงานลง แต่ในญี่ปุ่นการทำงานกว่า 50% ยังพึ่งพาการใช้กระดาษเป็นหลัก การใช้กระดาษในการดำเนินการนั้น นอกจากจะสร้างความไม่สะดวกให้ประชาชนแล้ว ฝั่งองค์กรเองก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการจัดเก็บ จัดการ ลงข้อมูลในฐานข้อมูล หรืออื่นๆ อีก นอกจากนี้การใช้กระดาษในบางกรณีจำเป็นต้องยื่นข้ามแผนกอีกด้วย เพื่อปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ให้ดีขึ้น จึงมีการตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้การยื่นคำร้องต่างๆ เป็นแบบ one-stop service โดยการเชื่อมโยงข้อมูล รวมถึงยกเลิกการใช้กระดาษ และส่งเสริมให้เปลี่ยนเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

5.2 การสร้างสังคมไร้เงินสดโดยใช้ IT

รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มผลักดันการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดตามกลยุทธ์การเติบโตซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

  • มุ่งมั่นที่จะสร้างสังคมที่สามารถชำระหรือโอนเงินได้อย่างง่ายดาย ถูกลง และปลอดภัยโดยไม่ต้องใช้เงินสดในทุกๆ ด้านของการใช้ชีวิต

  • โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่รองรับการชำระเงินแบบใหม่

  • ออกกฎหมายเกี่ยวข้องกับการเงินใหม่

  • ลดค่าธรรมเนียมระหว่างธนาคาร

เมื่อไม่นานมานี้ ญี่ปุ่นเริ่มมีการสนับสนุนให้ชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดอย่างจริงจัง เช่น ค่าสาธารณูปโภคสามารถชำระผ่านบาร์โค้ดได้ ให้การช่วยเหลือในการติดตั้งเครื่องชำระเงินแบบไม่ต้องใช้เงินสดสำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงกลาง สร้างสังคมที่ผู้คนสามารถชำระเงินและโอนเงินได้อย่างง่ายดาย ราคาถูก และปลอดภัย โดยไม่ต้องผูกติดกับเงินสดในทุกด้านของชีวิต สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการชำระเงิน ทบทวนระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ลดค่าธรรมเนียมระหว่างธนาคารและค่าธรรมเนียมร้านค้า

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมการแพร่กระจายของการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด เช่น ความสามารถในการชำระค่าสาธารณูปโภคด้วยการชำระเงินด้วยบาร์โค้ด

5.3 บุคลากรและการศึกษาที่จำเป็นสำหรับ Society 5.0

สิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการสร้าง Society 5.0 คือการผสมผสานเทคโนโลยีต่างๆ ตามที่ได้ยกตัวอย่างไปในเทคโนโลยีที่จำเป็นในการทำให้ Society 5.0 เกิดขึ้นจริง แต่เราต้องไม่ลืมว่ามนุษย์ก็เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ และการจะใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพและมีแบบแผน ประชาชนทุกคนต้องมีความสนใจและมีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อการนั้นการศึกษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็น

ตั้งแต่ปี 2020 การเขียนโปรแกรมกลายเป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษาของญี่ปุ่น โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรากฐานสำหรับการเรียนรู้ทฤษฎีและหลักการของคอมพิวเตอร์ ในระดับมหาวิทยาลัยมีการเปิดสอนวิชาคณิตศาสตร์ data science และ AI โดยไม่จำกัดว่าผู้เรียนจะต้องอยู่สายมนุษยศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์

สรุป

การสร้าง Society 5.0 แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไปและค่อนข้างเป็นไปได้จริง แต่จะไม่มีทางสำเร็จเลยหากหวังพึ่งแค่พลังของรัฐบาลหรือกลุ่มคนบางกลุ่ม วิสัยทัศน์ของ Cloud Ace คือ โลกที่ไม่ว่าใครก็สามารถใช้เทคโนโลยีสุดทันสมัยเพื่อทำให้ฝันที่วาดไว้เป็นจริงได้ ซึ่งบริษัทของเรามองว่า Society 5.0 เป็นทั้งเป้าหมาย และยังเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับวิสัยทัศน์นี้

เรายังเชื่อว่าโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างมากในการจะบรรลุเป้าหมายก็คือ คลาวด์ และข้อมูล สิ่งเหล่านี้คือเหตุผลที่เราเลือก Google Cloud เพื่อมุ่งสู่ Society 5.0 หรือสังคมแห่งอนาคตในภายภาคหน้า เรามาร่วมสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งไม่แพ้ใครในโลกโดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นแบบ Cloud First และลงทุนกับเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเต็มที่กัน

อ่านเพิ่มเติม Google Cloud คืออะไร (ฉบับมือใหม่)

Make It Now!

หากคุณสนใจต้องการคำปรึกษา Cloud Ace Thailand พร้อมให้บริการที่จะสนับสนุนคุณตั้งแต่ การให้คำปรึกษา จนถึงการออกแบบระบบ ติดตั้งระบบ ย้ายระบบ ในฐานะ Google Cloud Partner ที่มีความเชี่ยวชาญ และได้รับรางวัล Service partner of the year ในปี 2019

ติดต่อเรา th_sales@cloud-ace.com

.
.